วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563


บทความ : เรื่อง เตรียมพร้อมคณิตศาสตร์ตั้งแต่ก้าวแรก...ของลูกน้อย
ที่มา :แพทย์หญิงอัมพร   เบญจพลพิทักษ์   ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
แพทย์หญิงนพวรรณ  ศรีวงค์พานิช   รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบบริการฯ
นางนิรมัย  คุ้มรักษา  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
นางณัฐชนก   สุวรรณานนท์   นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
เตรียมพร้อมคณิตศาสตร์ตั้งแต่ก้าวแรก...ของลูกน้อย       
           พ่อ แม่ คือ ส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ของลูกน้อย ตั้งแต่วัยเตาะแตะจนถึง 5 ปี เด็กๆจะได้ใช้ทักษะนี้ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่างๆที่พ่อ แม่ทำร่วมกับเขา เช่น การนับขั้นบันไดที่เด็กขึ้นลง การแบ่งของเล่นหรือขนมให้พี่น้อง หรือเพื่อน  การพัฒนาทักษะโดยผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อความพร้อมของเด็กในการเข้าสู่โรงเรียน ทำให้เด็กสามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในโรงเรียนได้อย่างก้าวกระโดด
ทักษะทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับลูกน้อยก่อนเข้าสู่โรงเรียนการสังเกต สิ่งของเหมือนกันหรือต่างกัน
        
  โดยสอนให้เด็กๆสังเกตวัตถุหรือสิ่งของที่เหมือนกัน ตามขนาด รูปร่าง สี เช่น ให้ดูสิ่งที่เด็กพบเห็นอยู่ทุกวัน เช่น เครื่องใช้ของเด็กโดยให้เด็กสังเกตมีอะไรของเด็กที่เหมือนกันบ้าง  หรือในขณะที่พาเด็กเดินไปยังสถานที่ต่างๆ พ่อแม่เก็บใบไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นมาให้เด็กดูให้เด็กสังเกตสีของใบไม้ต่าง ๆ เด็กจะเห็นว่า ใบไม้ ส่วนใหญ่มีสีเขียว แต่บางใบก็มีสีแตกต่างไป ส่วนรูปร่างลักษณะก็มีทั้งคล้ายกันและต่างกัน เป็นต้น
การเปรียบเทียบสิ่งของชนิดเดียวกันหรือต่างกัน

          โดยสอนให้เด็กๆเปรียบเทียบสิ่งของหรือวัตถุ 2 ชิ้น ตามขนาด ความยาว ความสูง น้ำหนัก Iเช่น ใหญ่- เล็ก ยาว - สั้น สูง -เตี้ย หนัก - เบา ซึ่งในการสอนแรกๆควรใช้สิ่งของหรือวัตถุชนิดเดียวกันก่อน เมื่อเด็กทำได้ดีแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นสิ่งของหรือวัตถุต่างกัน จนทำได้ดีจึงให้เปรียบเทียบ “ขั้นกว่า” โดยใช้สิ่งของหรือวัตถุ 3 ชิ้น เช่น ใหญ่กว่า เล็กกว่า ยาวกว่า สั้นกว่า สูงกว่า เตี้ยกว่า หนักกว่า เบากว่า ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักการประมาณอีกด้วย
การจัดลำดับสิ่งของ

          โดยสอนให้เด็กๆจัดลำดับสิ่งของหรือวัตถุตั้งแต่ 3 ชิ้นขึ้นไป ตามขนาด ความยาว ความสูง น้ำหนัก เช่น เรียงลำดับจากใหญ่ที่สุดไปจนเล็กที่สุด ยาวที่สุดไปจนสั้นที่สุด สูงที่สุดไปเตี้ยที่สุด ฯลฯ
การวัด  สอนเด็กให้หาความยาว ความสูง และน้ำหนักของวัตถุโดยใช้หน่วยวัด เช่น นิ้ว ฟุต ปอนด์ หรือการจับเวลา (เป็นนาที)
การนับ  โดยสอนให้เด็กๆจับคู่หนึ่งต่อหนึ่ง เปรียบเทียบของสองกล่ม ให้เข้าใจความหมายของ เท่ากัน ไม่เท่ากัน มากกว่า น้อยกว่า นับเลขปากเปล่าไปข้างหน้า ถอยหลัง อาจยังเป็นการนับเลขแบบท่องจำ สอนนับจำนวน เช่น นับจำนวนอวัยวะในร่างกาย “เรามีตา 2 ตา” นับสมาชิกในบ้าน “บ้านของเรามีสมาชิกอยู่ 4 คนคือ พ่อ แม่ พี่ และหนู” นับจำนวนขนม ผลไม้ ขณะรับประทานอาหารว่าง “มีส้ม 3 ผล” “หนูขอกินขนม 2 ชิ้น” หรือนับจำนวนสิ่งที่เด็กพบเห็นบ่อยๆ เป็นต้น เมื่อเด็กหยิบจำนวนสิ่งของหรือวัตถุมาให้ได้ตามจำนวนที่บอกจึงค่อยสอนความสัมพันธ์ของตัวเลขกับจำนวนโดยการแทนค่าของจำนวนด้วยตัวเลข
รูปทรงและขนาด โดยสอนให้เด็กรับรู้ความสัมพันธ์ของรูปร่าง รูปทรง ขนาด พื้นที่ ตำแหน่ง ทิศทางและการเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาเรขาคณิตต่อไป ชวนเด็กพูดคุยถึงสิ่งของในบ้านว่ามีรูปร่าง รูปทรง เป็นอย่างไร เช่น ในบ้านของเราอะไรที่มีรูปร่าง/รูปทรงเป็นวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมบ้าง เมื่อเด็กเริ่มบอกได้รูปร่างพื้นฐานได้ค่อยสอนรูปทรงที่ยากขึ้น
การจัดหมู่   โดยสอนให้เด็กจัดสิ่งของเป็นหมวดหมู่ตามการเรียกชื่อสิ่งของ เช่น กองนี้เป็นช้อน กองนี้เป็นแก้วน้ำ กองนี้เป็นชาม และการจัดหมวดหมู่ตามลักษณะที่กำหนด เช่น กองนี้เป็นเครื่องแต่งกาย กองนี้เป็นผลไม้ กองนี้เป็นเครื่องใช้ กองนี้เป็นสัตว์ เป็นต้น
การรวมหมู่  โดยสอนให้เด็กนำสิ่งของมารวมกันให้เป็นกองใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น เช่น มีส้มอยู่ 3 ผลนำมารวมกับชมพู่ 2 ผลรวมทั้งส้มกับชมพู่แล้วมี 5 ผล เป็นต้น
การแยกหมู่ โดยสอนให้แยกของที่กองรวมกันอยู่มาแยกของที่เหมือนกันเป็นกองๆ เช่น มีของเล่น  2 ชนิดกองรวมกันไว้ แล้วให้เด็กแยกของเล่นที่เหมือนกันออกเป็น 2 กอง เป็นต้น

สรุป

     คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูมักสอนเด็กตั้งแต่เล็กๆ ก่อนที่เด็กจะได้เรียนรู้วิชานี้ในโรงเรียน แต่จะเป็นลักษณะการท่องจำมากกว่าการสอนในเรื่องจำนวน  เด็กที่ได้รับการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมักจะเรียนได้ดีกว่าเมื่อเข้าเรียนชั้นอนุบาล และพบว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับการทำนายความสามารถในอนาคตได้มากที่สุด  ตามด้วยทักษะด้านการอ่านและสมาธิ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น